พระธาตุหริภุญชัย แห่งเมืองที่…’พระพุทธเจ้าเคยเสวยลูกสมอ’

6jefhbdi78bkbd9c5jj96

ชื่อของวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจากชื่อของเมืองหริภุญชัย ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้เมื่อครั้งเสด็จมาบิณฑบาตในสมัยพระพุทธกาลและได้แวะรับและฉันลูกสมอ ที่ชาวลัวะนำมาถวาย โดยได้ทรงพยากรณ์ไว้ตอนนั้นว่าสถานที่แห่งจะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อว่า “หริภุญชัยนคร”

“คนไปลำพูนหากไม่ได้ไปกราบไหว้พระธาตุหริภุญชัยแล้วก็เหมือนกับว่ายังไม่เคยไปลำพูนเลย” เป็นคำกล่าวขานในหมู่ชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวล้านนาไทย เพราะว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของ จ.ลำพูน

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ตรงกับรัชสมัยของพญาอาทิตยราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ โดยสถานที่แห่งนี้เคยเป็นพระราชฐานของพระองค์ซึ่งพระราชทานอุทิศถวายให้เป็นวัดพระธาตุ เพื่อเป็นพุทธบูชาหลังจากที่พระบรมสารีริกธาตุได้ปรากฏให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรในบริเวณดังกล่าว มวลสารผงจากองค์พระบรมธาตุหริภุญชัยใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา

พระบรมธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง ประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุในโกศทองคำเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสัตถบัญชร (ระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วเหล็กและทองเหลือง) ๒ ชั้น สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม หอคอยประจำทุกด้านรวม ๔ หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน ๖ จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี

ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.๑๔๔๐ พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำ บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย ต่อมาใน พ.ศ.๑๙๘๖ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ เพราะในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับลังกา

พระสุวรรณเจดีย์ หรือปทุมวดีเจดีย์ ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังจากสร้างพระบรมธาตุเสร็จได้ ๔ ปี พระสุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นทรงปรางค์ ๔ เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้ มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม ฝีมือแบบขอมปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุพระเครื่อง

นอกจากนี้แล้วภายในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ซุ้มประตู ก่อนเข้าไปในบริเวณวัดจะผ่านซุ้มประตูฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ หน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ ๑ เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม

เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า “วิหารหลวง” เป็นวิหารหลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน มีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ.๑๔๕๘ วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ ๓ องค์ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้วและมีพระพุทธปฏิมาโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางอีกหลายองค์

———————–

ความหมายแห่ง ‘หริภุญชัยนคร’

พระราชปัญญาโมลี (จำรัส ทตฺตสิริ, ปธ.๗) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย บอกว่า ชื่อของวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจากชื่อของเมืองหริภุญชัย ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้เมื่อครั้งเสด็จมาบิณฑบาตในสมัยพระพุทธกาลและได้แวะรับและฉันลูกสมอ ที่ชาวลัวะนำมาถวาย โดยได้ทรงพยากรณ์ไว้ตอนนั้นว่า สถานที่แห่งนี้จะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อว่า “หริภุญชัยนคร” และในกาลต่อมาก็มีฤาษี ๒ องค์ ชื่อว่า วาสุเทพ และสุกกทันตะ ได้ร่วมกันสร้างเมือง ณ สถานที่แห่งนี้ และให้ชื่อเมืองว่า หริภุญชัยนคร เมื่อ พ.ศ.๑๒๐๔ สมจริงตามคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ทุกประการ

หริภุญชัยนคร แปลว่า เมืองที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยลูกสมอ (หริ แปลว่า สมอ, ภุญชัย แปลว่า เสวย, นคร แปลว่า เมือง)

ส่วนพระบรมธาตุนั้น แต่เดิมเก็บรักษาไว้ในกระบอกไม้รวกและใส่ไว้ในโกศแก้วอีกชั้นหนึ่ง ต่อมากษัตริย์ผู้ครองนครลำพูนทุกพระองค์ก็ได้บูรณะและพัฒนาขึ้นตามลำดับ โดยเปลี่ยนจากโกศแก้วเป็นโกศทองและเปลี่ยนเป็นมณฑป ในที่สุดเป็นเจดีย์และมีการขยายขนาดของเจดีย์และมีการขยายขนาดเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสูงถึง 25 วาครึ่ง กว้าง 12 วาครึ่ง ดังปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้และเรียกชื่อว่า “วัดพระธาตุหริภุญชัย”

ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาบิณฑบาตยังชัยภูมิแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวเม็ง หรือมอญ เมื่อรับบิณฑบาตแล้วก็ได้เสด็จเลียบฝั่งแม่น้ำระมิงค์ขึ้นมาทางทิศเหนือจนถึงสถานที่แห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าจึงทรงหยุดพัก ประทับอยู่บนหินก้อนหนึ่ง และทรงวางบาตรไว้ด้านข้าง ขณะนั้นมีพญาชมพูนาคราชและพญากาเผือก ได้มาปรนนิบัติและอุปัฏฐากพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด และได้มีชาวลัวะผู้หนึ่งได้นำเอาลูกสมอมาถวายพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์เสวยลูกสมอนั้นแล้ว จึงทรงทิ้งขว้างเมล็ดลูกสมอเหล่านั้นลงบนพื้นดินพร้อมกับตรัสพยากรณ์ไว้ว่า “สถานที่แห่งนี้ต่อไปภาคหน้า หลังจากเราตถาคตได้นิพพานไปแล้ว จะเป็นที่ตั้งของหริภุญชัยนคร และยังจะเป็นที่ประดิษฐานของพระสุวรรณเจดีย์อีกด้วย”

———————–

ร่วมบุญสร้าง ๖ บุญใหญ่

วัดพระธาตุหริภุญชัย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลำพูน ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพสั่งจองสุดยอดวัตถุมงคลแห่งทศวรรษ รุ่น ๑ บารมี ๒ มหาราช ประกอบด้วย พระกริ่งนเรศวร เทดินไทย รูปเหมือนปั๊มครูบาศรีวิชัย เทดินไทย รูปเหมือนพระเจ้าตากสินมหาราช รูปหล่อเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย และเหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย

ทั้งนี้จะประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกโดยคณาจารย์ดังภาคเหนือ ๑๙ รูป ร่วมพิธี พร้อมทำพิธีเททองหล่อรูปเหมือนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, พระรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย และองค์พระธาตุหริภุญชัยจำลอง ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๑๙ น. ณ วิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

๑.เพื่อหารายได้จัดพิธีเททองหล่อรูปเหมือนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขนาดเท่าพระองค์จริง (ประทับนั่งหลั่งทักษิโณทก) เพื่อประดิษฐานหน้าตึกกองกำลังนเรศวร ค่ายนเรศวร จ.ตาก พร้อมจัดทำวัตถุมงคลมอบให้กำลังพลหน่วยกองกำลังนเรศวร และพื้นที่ปฏิบัติการในการป้องกันชายแดน ๒.เพื่อจัดหารายได้เททองหล่อรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน

๓.เพื่อจัดหารายได้เททองหล่อองค์พระธาตุหริภุญชัย จำลอง เพื่อใช้ในพิธีสรงน้ำของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน ๔.สนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาสำหรับสถานศึกษา โรงเรียนแม่ตืนวิทยา อ.ลี้ จ.ลำพูน ๕.สนับสนุนการก่อสร้างห้องเอกซเรย์ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน และ ๖.สนับสนุนกิจกรรมกิ่งกาชาดจังหวัดลำพูน
ขอขอบคุณ http://www.komchadluek.net

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .