พระวิหารหลวง
พระวิหารหลวง จำลองมาจากวัดมงคลบพิตรที่กรุงศรีอยุธยา เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด 5 ห้อง กว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร โครงสร้างหลังคาเป็นจั่วมีหลังคาประธาน 1 ตับ มีชั้นซ้อน(หลังคามุข) ทางด้านหน้าและด้านหลังข้างละ 1 ชั้น และมีหลังคาปีกนกลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ 3 ตับ หลังคามุขทางด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ 2 ตับ มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน 12 ต้น ทั้งสองด้านรวม 24 ต้น และเสานาง เรียงด้านข้าง ด้านละ 6 ต้น รวมทั้งหมดจึงเป็นเสา 36 ต้น เสานางเรียงและเสารับมุขหัวเสาเป็นปูนปั้น
บานประตูพระวิหารหลวงเป็นบานไม้แกะสลักลายลึกเป็นรูปพฤกษามีกิ่งก้านใบและดอกตระหวัดเกาะเกี่ยวอ่อนช้อยงดงามมีสัตว์เกาะเหนี่ยวเหมือนธรรมชาติ ลวดลายเหล่านี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำหนดลักษณะลายแบบวิธีการแกะและเริ่มแกะด้วยพระองค์ก่อน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างฝีมือแกะต่อเป็นบานประตูที่งดงามหาที่เปรียบมิได้ น่าเสียดายที่ปัจจุบันโดนไฟไหม้บางส่วนและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
รอบพระวิหารหลวงจะมีเจดีย์ศิลปะแบบจีนรายล้อมพระวิหารหลวง 28 องค์ เรียกว่า ถะรายพระวิหาร คำว่า “ถะ” เป็นเครื่องศิลาแบบจีนรูปแบบคล้ายอาคารหกเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป 6 ชั้น แต่ะลชั้นเป็นช่องโปร่งซึ่งเป็นลักษณะของเรือนไฟใช้ตามประทีป ถะรายพระวิหารมี 28 ถะ หมายถึงพุทธ 28 พระองค์ ตั้งอยู่บนพนักฐานพระวิหารชั้นที่ 2
ภายในพระวิหารหลวงมี “พระศรีศากยมุนี” ประดิษฐานเป็นพระประธาน หล่อด้วยสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 6.25 เมตร เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย อายุกว่า 600 ปี