พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ-ศิลปะและสถาปัตยกรรม

เมื่อคุณเล็ก วิริยะพันธุ์ได้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ โดยมีทีมช่างเมืองโบราณเป็นผู้เขียนแบบร่างและปั้นหุ่นจำลองช้างเอราวัณดินเหนียวต้นแบบ คุณเล็กมอบหมายงานชิ้นนี้ให้ คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ บุตรชายคนโตเป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัด หาช่างและวัสดุในการสร้าง ต่อมาคุณ พากเพียร ติดต่อบริษัทสถาปนิกเพื่อทำการออกแบบ ซึ่งได้ คุณสุวรรณี นภาสว่างวงศ์ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณจากต้นแบบ โดยใช้ โฟม ไฟเบอร์ และขี้ผึ้งจำลองเป็นรูป ทรงอาคารช้างสามเศียรหลายครั้ง เพื่อหาโครงสร้างภายในอย่างละเอียด โดยสร้างรูปทรงจำลองเป็นไฟเบอร์เพื่อหารูปทรงภายในส่วนรูปช้างหุ่นขี้ผึ้งจำลองนั้นเป็นแบบปั้นสมบูรณ์ก่อนจะเริ่มสร้างช้างขนาดจริง ซึ่งสถาปนิกต้องสร้างช้างโฟมจำลองก่อนจะตีเส้นหาแบบร่างเพื่อนำมาวาดเป็นแบบแปลนก่อสร้าง เพราะโครงสร้างแต่ละท่อนไม่มีรูปทรงชัดเจนเหมือนการสร้างอาคารทั่วไป โดยเฉพาะส่วนหัวช้างจะทำยากที่สุด หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนแบบแปลนการก่อสร้าง ปรึกษาวิศวกร หาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง พอได้แบบแปลนแล้วก็ขออนุญาตทางการเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารช้างเอราวัณ กำหนดทำพิธีวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 และเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2537 โดยสร้างอาคารทรงโดมที่ช้างยืนอยู่ เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กมีความสูง 14.60 เมตร ใช้หลักการกระจายน้ำหนักตัวช้างด้วยคานวงแหวนรอบนอกและรอบในอาคารถ่ายน้ำหนักลงบนเสาแปดเสาภายนอก และเสาสี่เสาภายในอาคารทรงโดมโครงสร้างช้างนั้นขาทั้งสี่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
โครงสร้างลำตัวช้างเป็นโครงถักเหล็กทรงพาราโบลา 10 วง ส่วนลำตัวช้าง กับหัวช้างใช้โครงเหล็กรูปตัว H และ I โยงยึดติดกันระหว่างโครงหัวช้างและตัวช้าง คล้ายกับการสานตะกร้อ เพื่อถ่ายน้ำหนักทั้งหมดลงมาที่ขาช้างทั้งสี่ ซึ่งมีอาคารทรงโดมเป็นฐานรองรับน้ำหนักหัวช้างเป็นส่วนที่ก่อสร้างยากที่สุด เพราะแต่ละหัวมีน้ำหนักถึง 100 ตัน และยื่นออกไปโดยไม่มีโครงสร้างรองรับน้ำหนัก สถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบใช้คานโครงเหล็กที่เรียกว่า “ Truss” คอยค้ำและดึงน้ำหนักของหัวช้างให้ ถ่ายน้ำหนักลงมาที่ขาช้างทั้งสี่ เมื่อโครงสร้างเหล็กตัวช้างเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือการหุ้มโครงเหล็กด้วยทองแดงเป็นรูปช้าง คุณพากเพียรได้ติดต่อประติมากร คุณรักชาติ ศรีจันทร์เคณ มาดำเนินงานโดยใช้เทคนิคใหม่ในการสร้างประติมากรรมทองแดง ต่างจากเดิมที่ใช้วิธีการหล่อทั้งตัว เช่น เทพีเสรีภาพแห่งสหรัฐอเมริกา คือการเคาะแผ่นทองแดงเป็นลวดลายต่างๆ แล้วนำขึ้นไปเชื่อมกันกลางอากาศ การหุ้มทองแดงเป็นรูปหัวช้างค่อนข้างยาก โดยตั้งโครงเหล็กหัวช้างทั้ง 3 หัวที่พื้นราบก่อน แล้วช่างจะเคาะแผ่นทองแดงขึ้นรูปหัวกลางของช้างก่อน เมื่อได้หัวช้างทองแดงเป็นที่เรียบร้อย ช่างใช้หัวกลางนั้นเป็นต้นแบบของหัวช้างอีก 2 หัว โดยใช้วิธีดัดเหล็กเส้นตามโครงสร้างภายในหัวช้างต้นแบบแล้วตัดเหล็กเส้นที่ได้พร้อมทำหมายเลขทุกชิ้นเพื่อนำขึ้นไปติดกับโครงสร้างหัวช้างที่ยกขึ้นไปส่วนหัวกลางผ่าออกเป็น 3 ชิ้นแล้วนำขึ้นประกอบกับโครงสร้างหัวช้างที่ยกไปติดกับตัวช้างด้านบน สำหรับหัวช้างที่เหลือ ช่างจะเคาะแผ่นทองแดงประกอบเป็นหัวช้างโดยใช้นั่งร้านผิวหนังลำตัวช้างและเครื่องทรงหุ้มด้วยทองแดงทั้งหมด ช่างใช้ทองแดงแผ่นหนาประมาณ 1.2 มิลลิเมตร ตั้งแต่ขนาด 4 x 8 ฟุต จนถึงแผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือ ใช้ช่างเคาะจำนวนประมาณ 270 คน

ขอขอบคุณ http://www.ancientcitygroup.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .