พระพุทธโลกนาถ พระวิหารทิศ วัดพระเชตุพน

4545
พระพุทธโลกนาถ ราชมหาสมมติวงศ์ องค์อนันตญาณสัพพัญญู สยัมภูพุทธบพิตร เป็นพระพุทธรูป ปางห้ามสมุทร พุทธศิลป์แบบอยุธยา หล่อด้วยสำริดปิดทอง ขนาดสูง ๒๐ ศอก เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วิหารพระโลกนาถ วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศตะวันออก มุขหลังชั้นใน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

พระพุทธโลกนาถประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออก (ด้านหลัง) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มุขหลังพระวิหารทิศตะวันออกนี้เป็นทิศเดียวที่ได้มีการต่อขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระวิหารทิศอื่น ๆ ล้วนต่อขึ้นภายหลังคราวปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ ทั้งสิ้น)

ประวัติพระพุทธโลกนาถฯ มีกล่าวไว้ในจารึกครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งบันทึกไว้ว่า “….. พระพุทธรูปยืนสูงญี่สิบศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนาถสาศดาจารย์ ปรักหักพังเชิญมาแต่วัดศรีสรรเพชญ์ กรุงเก่า ปติสังขรณ์เสรจ์แล้วเชิญประดิษถานในพระวิหารทิศตะวันออกมุกหลัง บันจุพระบรมธาตุ์ด้วย ผนังเขียรพระโยคาวจรพิจาระณาอาศุภสิบ และอุประมาญาณสิบ …..”

พระนามเดิมของพระพุทธโลกนาถฯ อันมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้แก่พระโลกนาถศาสดาจารย์ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระนามใหม่ว่า “พระพุทธโลกนาถราชมหาสมมติวงค์ องศ์อนันตญาณสัพพัญญู สยัมภูพุทธบพิตร” พร้อมกับโปรดฯ ให้จารึกพระนามลงในแผ่นศิลาประดับไว้ที่ฝาผนังดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงมีชัยชนะแก่พระมหาอุปราชแล้ว โปรดฯ ให้ขยายพระนครให้กว้างขึ้น “….. จึงให้สร้างพระพุทธปฎิมากร สูง ๒๐ ศอก พระองค์ ๑ สำเร็จแล้วก็ทรงบริจาคพระราชทรัพย์บำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระพุทธปฎิมากรนั้นเป็นอันมาก ถวายพระนามว่าติโลกนารถ…..” ปัจจุบันมีผู้สันนิษฐานว่าพระโลกนาถศาสดาจารย์อาจเป็นองค์เดียวกันกับพระติโลกนารถที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างขึ้นเพราะพระพุทธปฎิมาทั้งสององค์สูง ๒๐ ศอกเท่ากัน

ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ชรอยมหาชนจะนิยมกันว่า พระพุทธโลกนาถฯ เป็นพระพุทธรูปซึ่งทรงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ในทางขอบุตร จึงเป็นมูลเหตุสืบมาในชั้นหลัง เล่ากันว่าเจ้าจอมแว่น (คุณเสือ เชลยชาวเวียงจันทน์) พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑ ได้เคยบูชาขอโอรสธิดาโดยถวายตุ๊กตาศิลา ๑ คู่ พร้อมโคลงจารึกไว้ยังติดอยู่ที่ผนังพระวิหารจนปัจจุบัน

รจนาสุดารัตนแก้ว กุมารี หนึ่งฤา
เสนอธิบายบุตรี ลาภได้
บูชิตเชฐชินศรี เฉลาฉลัก หินเฮย
บุญส่งจงลุได้ เสร็จด้วยดังถวิล
กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง ติดผนัง
สถิตย์อยู่ทิศเบื้องหลัง พระไว้
คุณเสือสวาดิหวัง แสวงบุตร ชายเอย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้ สฤษดิแสร้งแต่งผล

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยว่า
“…..โคลงจารึกไว้ กับภาพกุมารในวิหารพระโลกนาถนั้น (เดิม) มักเข้าใจกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ข้าพเจ้าได้พิจารณาดูเห็นเป็นแน่ว่า เป็นพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงสันนิษฐานว่า ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อเจ้าจอมแว่นพระสนมเอก ซึ่งเรียกกันว่าคุณเสือกราบทูลความปรารถนาใคร่จะอธิษฐานขอบุตรนั้น โปรดฯ ให้ทำแต่รูปกุมารติดไว้

เรื่องเดิมของรูปกุมารเป็นแต่บอกเล่ารู้กันมา ชรอยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชดำริเกรงคนทั้งหลายภายหลังเห็นว่า รูปกุมารไม่เกี่ยวข้องกับพระศาสนาจะรื้อทำลายเสีย จึงอาราธนาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ให้ทรงพระนิพนธ์โคลงบอกเรื่องของภาพกุมารไว้ เห็นเป็นในคราวเดียวกับเมื่อทรงขนานนามพระพุทธรูปในพระวิหารทิศ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ จึงทรงใช้นามในโคลงว่าคุณเสือตามซึ่งพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเรียกก่อนแล้วคนทั้งหลายเรียกตามจนชินปากต่อมา ถ้าเป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็จะหาทรงใช้นามว่าคุณเสือเช่นนั้นไม่ อันนี้เป็นหลักสำคัญในข้อวินิจฉัย …..”

ขอขอบคุณ http://www.trueplookpanya.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .