ตามไปดูสะดือเมืองเชียงราย แล้วแวะไปไหว้พระที่วัดดอยจอมทอง

ChiangRai_Navel05

เสาสะดือเมืองเชียงราย (เสาหลักเมือง) เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของการก่อตั้งชุมชนและเมือง สำหรับจังหวัดเชียงรายจะเรียกเสาหลักเมืองว่าเสาสะดือเมือง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า เมื่อครั้งการสร้างเมืองครั้งแรกใช้คำว่า “เสาสะดือเมือง” ไม่ใช้คำว่าเสาหลักเมือง

เสาสะดือเมืองเชียงรายแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา หรือ 5 รอบ และเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพญามังรายมหาราช ผู้ทรงสร้างเมืองเชียงรายเนื่องในวโรกาสการเฉลิมฉลองการสร้างเมืองเชียงรายครบ 725 ปี โดยนายอร่าม เอี่ยมอรุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นได้เป็นแม่งานร่วมกับหน่วยงานราชการ เช่น สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์กรภาคประชาชน ภาคเอกชน และรัฐบาลเยอรมัน

ลักษณะของเสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างขึ้นโดยยึดตามรูปแบบเสาใจกลางบ้านของชาวไทลื้อซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอเทิง อำเภอเชียงของ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งปกติเสาใจกลางบ้านของชาวไทลื้อจะสร้างด้วยไม้ แต่เสาสะดือเมืองเชียงรายเป็นเสาหิน ซึ่งสร้างจากหินชั้นดีจากจังหวัดตาก ทั้งนี้เพื่อความคงทนถาวร

บริเวณที่ตั้งเสาสะดือเมืองแห่งนี้เรียกว่าดอยจอมทอง ซึ่งตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าพญามังรายได้เสด็จมาหาตามช้างของพระองค์ซึ่งหนีเตลิดมา เมื่อพระองค์ได้ทรงพบว่าสถานที่แห่งนี้มีชัยภูมิเหมาะสมในการสร้างบ้านเมือง จึงโปรดให้สร้างเมืองเชียงรายขึ้น

เสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างในรูปแบบศิลปะขอมแบบพนมบาแกง โดยยึดตามรูปแบบสมมติของจักรวาล หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกสุดเป็นคูน้ำเหมือนในจักรวาล ลานดินถัดจากคูน้ำหมายถึงแผ่นดิน ลานด้านในยกเป็นชั้นๆ จำนวน 6 ชั้น เปรียบเสมือนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ในกามภูมิ ประกอบด้วยชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานรตี และปรนิมมิตสวัตตี ตามลำดับ

โดยแต่ละชั้นจะมีร่องน้ำคั่นกลาง เหมือนปัญจมหานที ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ ไหลลดหลั่นกันลงสู่พื้นดิน ชั้นในสุดยกเป็น 3 ชั้น หมายถึงรูปภูมิ อรูปภูมิ และนิพพาน

ตัวเสาสะดือเมืองตั้งโดดเด่นดั่งเขาพระสุเมรุอยู่บนฐานสามเหลี่ยมยกพื้นสูง ซึ่งเปรียบเสมือนตรีกูฏบรรพต หรือผา 3 เส้า มีเสาบริวารล้อมรอบจำนวน 108 ต้น โดยตัวเสาสะดือเมืองมีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อของล้านนาโบราณที่จะต้องสร้างเสาสะดือเมืองให้มีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ และมีความสูงเท่ากับส่วนสูงของพระวรกายของพระมหากษัตริย์

เสาสะดือเมืองเชียงรายและเสาบริวารแกะสลักจากหิน โดยฝีมือของนายสิงห์คำ สมเครือ ช่างฝีมือชาวพะเยา ปัจจุบันเสาสะดือเมืองเชียงรายนอกจากเป็นสถานที่รำลึกถึงการสร้างเมืองเชียงรายแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย

บริเวณข้างเสาสะดือเมืองเชียงราย เป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยจอมทอง และเชิงบันไดทางขึ้นไปสู่เสาสะดือเมืองด้านขวามือ มีสิ่งก่อสร้างขนาดย่อมตั้งอยู่ เรียกว่า “กรุวัฒนธรรมเชียงราย” ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมืองวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2544 เพื่อเก็บร่องรอยและหลักฐานทางวัฒนธรรมร่วมสมัยปัจจุบัน ซึ่งกรุวัฒนธรรมเชียงรายนี้จะทำการขุดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีอายุครบ 100 ปี หรือในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2644

วัดพระธาตุดอยจอมทอง

วัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือวัดพระธาตุดอยทอง (หรือวัดพระธาตุดอยตอง ตามสำเนียงคนเชียงราย) เป็นหนึ่งในพระธาตุ 9 จอม ตั้งอยู่ใน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดเก่าแก่ และถือเป็นปูชนียสถานแห่งหนึ่งใน “เก้าจอม” ของสถานที่อันเป็นมงคลนามของจังหวัดเชียงราย

วัดพระธาตุดอยจอมทองนี้ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนที่พญามังรายมหาราชจะเสด็จมาพบพื้นที่บริเวณนี้ และโปรดให้สร้างเมืองเชียงรายในปี พ.ศ. 1805 โดยตามประวัติที่มีการกล่าวถึงวัดพระธาตุดอยจอมทองระบุว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาเรือนแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ (บริเวณอำเภอเวียงชัยปัจจุบัน) นี พ.ศ. 1483

ในการสร้างวัดครั้งนั้น ได้มีการสร้างองค์พระเจดีย์ประธานของวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหาเถระชาวลังกาได้นำมาถวายแด่พญาพังคราชแห่งเมืองโยนกนาคพันธุ์ ซึ่งพญาพังคราชได้โปรดให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 3 ส่วน และนำไปประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเจดีย์ที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ได้แก่ พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง พระธาตุจอมกิตติ และพระธาตุดอยจอมทองแห่งนี้

พระเจดีย์ประธานของวัดพระธาตุดอยจอมทอง มีลักษณะเป็นเจดีย์ล้านนาพุกาม องค์ประกอบของเจดีย์ส่วนฐานมีลักษณะเป็นฐานปัทม์หกเหลี่ยมยกสูง องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นชั้นบัวถลารับองค์ระฆัง ส่วนยอดประกอบด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉน ปลียอด และมีฉัตรอยู่ชั้นบนสุด องค์เจดีย์หุ้มด้วยทองจังโกฎิ เหมือนกับพระเจดีย์อื่นๆในภาคเหนือ ทำให้เกิดความสวยงามและยังสามารถป้องกันการเกิดตะไคร่น้ำ และป้องกันการเกิดวัชพืชบนองค์เจดีย์ด้วย

คำไหว้พระธาตุดอยจอมทอง

วันทามิ เจติยัง สัพพัฎฐาเนสุ ปติฏฐิตา สรีระธาตุ มหาโพธิง พุทธะรูปัง สกลังสะทา นาคะโลเก เทวะโลเก ตาวะติงเส พรหมะโลเก ชัมภูทีเป ลังกาทีเป สรีระธาตุโย เกสาธาตุโย อรหันตาธาตุโย เจติยัง คันธะกุฏี จะตุราสี ติสะหัสสะ ธัมมักขันธา ปาทะเจติยัง นะระเทเวหิ ปูชิตา อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ ทูระโต อะหังวันทามิ สัพพะโส

สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งภายในวัดพระธาตุดอยจอมทองคือพระวิหาร โดยมีลักษณะเป็นพระวิหารแบบร่วมสมัย ระหว่างศิลปล้านนาและรัตนโกสินทร์ มีองค์ประกอบที่สำคัญเหมือนพระวิหารทั่วๆ ไป กล่าวคือ ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน บัวหัวเสา

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย และมีการตกแต่งภายในพระวิหารด้วยจิตรกรรมที่แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุดอยจอมทองมีประเพณีการสรงน้ำพระธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ใต้ (เดือน 5 เหนือ) นอกจากนี้ประชาชนยังนิยมมาชมวิวแม่น้ำกก และสักการะเสาสะดือเมืองเชียงราย (เสาหลักเมือง) นอกจากนั้นบริเวณเชิงบันไดลงทางด้านทิศตะวันตกของวัดมีศาลเจ้าจีน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พี่น้องชาวไทยจีนนิยมมาประกอบพิธีกรรมสำคัญเป็นประจำ

ขอขอบคุณhttp://www.oknation.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .