นมัสการพระธาตุเก่าแก่ และเสาสะดือเมือง 108 หลักที่วัดพระธาตุดอยจอมทอง

450px-Jt01.jpg

วัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือวัดพระธาตุดอยทอง (หรือวัดพระธาตุดอยตอง ตามสำเนียงคนเชียงราย) เป็นหนึ่งในพระธาตุ 9 จอม ตั้งอยู่ใน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดเก่าแก่ และถือเป็นปูชนียสถานแห่งหนึ่งใน “เก้าจอม” ของสถานที่อันเป็นมงคลนามของจังหวัดเชียงราย โดยวัดพระธาตุดอยจอมทองนี้

วัดพระธาตุดอยจอมทอง เป็นปูชนียสถานสำคัญของเชียงราย ตั้งอยู่บนดอยจอมทองที่สามารถมองเห็นตัวเมืองเชียงรายได้อย่างชัดเจน ตามตำนานระบุว่าเป็นวัดเก่าแก่ก่อนที่พญามังรายจะมาตั้งเมืองเชียงรายเมื่อ พ.ศ.1805 โดยพญามังรายทรงกำหนดให้ดอยจอมทองเป็นสะดือเมืองหรือใจกลางเมือง

ที่ตั้งและการเดินทาง ตั้งอยู่บนดอยทอง ต.เวียง

รถยนต์ส่วนตัว จากหอวัฒนธรรม ใช้ ถ.สิงหไคล ผ่าน รพ.โอเวอร์บรู๊ค เลี้ยวขวาเข้า ถ.ไกรสรสิทธิ์ ทางเดียวกับทางไปสะพานแม่ฟ้าหลวง ประมาณ 1 กม. จากนั้นมีแยกซ้ายมือ มีป้ายบอกทางไปวัดดอยจอมทองตาม ถ.อาจอำนวย ซึ่งเป็นถนนแคบๆ ผ่านทางขึ้นวัดดอยจอมทองด้านขวามือ

สิ่งน่าสนใจ
พระธาตุดอยจอมทอง ตามพงศาวดารโยนกล่าวว่าพระธาตุนี้สร้างขึ้นในสมัยพญาเรือนแก้วผู้ครองนครไชยนารายณ์เมื่อปี พ.ศ.1483 เพื่อบรรจุพระบรมสาริกธาตุที่พระเจ้าพังคราชแห่งนครโยนกนาคพันธุ์ทรงอัญเชิญมา โดยแยกกันไปประดิษฐานไว้สามที่คือ วัดพระธาตุจอมกิตติ วัดพระธาตุจอมกิตติ วัดพระธาตุดอยตุง และวัดพระธาตุดอยจอมทอง ต่อมาในปี พ.ศ.1805 เมื่อพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้น ทรงบูรณะพระธาตุดอยจอมทองที่พังลงเพราะแผ่นดินไหวขึ้นมาใหม่ควบคู่ไปกับการสร้างเมือง

องค์พระธาตุเป็นเจดีย์แบบล้านนา หุ้มแผ่นทองทั้งองค์ สูงประมาณ 20 ม.ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม จากฐานเป็นบัวคว่ำบัวหงาย แล้วเป็นฐานองค์ระฆังซ้อนลดหลั่นขึ้นไปห้าชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็ก

เสาสะดือเมือง 108 หลัก เสาสะดือเมืองนี้ชาวเชียงรายได้ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพญามังราย และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบห้ารอบ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และรัฐบาลเยอรมณี

เสาสะดือเมือง 108 หลัก ตั้งอยู่บนรูปแบบสมมุติของจักรวาลอันเป็นคติที่มีมาแต่โบราณ ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก ลานรอบนอกหมายถึงแผ่นดิน ล้อมรอบด้วยคูน้ำอันเปรียบได้กับน้ำในขอบจักรวาล รอบในยกขึ้นเป็นหกชั้นหมายถึงสวรรค์ทั้งหกของกามภูมิ แล้วยกขึ้นอีกสามชั้นซึ่งหมายถึงรูปภูมิ อรูปภูมิ และชั้นบนสุดเปรียบได้กับนิพพาน

สำหรรับตัวเสาสะดือเมืองเป็นดั่งเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่บนฐานสามเหลี่ยม หมายถึงตรีกุฏบรรพตหรือผาสามเส้า ล้อมด้วยเสา 108 ต้น อันหมายถึงสิ่งสำคัญในจักรวาล และล้อมรอบอีกชั้นด้วยร่องน้ำห้าร่องซึ่งเปรียบเป็นปัญจมหานทีลดหลั่นเป็นชั้นไหลลงสู่พื้นดิน

ตามคติโบราณของล้านนา เสาสะดือเมืองจะใหญ่เท่าห้ากำมือและสูงเท่ากับความสูงของพระเจ้าแผ่นดิน โคนเสาสะดือเมืองนี้จึงใหญ่เท่ากับห้าพระหัตถ์กำ และสูงเท่ากับส่วนสูงแห่งพระวรกายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ได้เสด็จมาเจิมเสาสะดือเมืองนี้เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2531

ชาวเชียงรายมีความเคารพศรัทธาเสาสะดือเมืองแห่งนี้มาก จึงนิยมมาสรงน้ำเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวเมือง และเชื่อว่าน้ำที่สรงเสาสะดือเมืองแล้วเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

ขอขอบคุณhttp://www.thailands360.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .