ช้างเอราวัณถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนนิยมเดินทางไปสักการะบูชา ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท ก่อนเข้าตัวเมืองปากน้ำ ในเนื้อที่ 12 ไร่ ของบริษัท ธนบุรีประกอบยนต์ จำกัด ตำบลบางเมืองใหม่ เป็นงานปฏิมากรรมลอยตัว ความสูงเทียบเท่าตึก 17 ชั้น สูงจากฐานอาคารถึงหัวช้าง 42 เมตร ตัวช้างทำด้วยโลหะทองแดงเคาะด้วยมือทั้งหมด
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างจากแรงบันดาลใจ และความคิดของ คุณเล็ก-วิริยะพันธ์ผู้สร้างเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ และปราสาทสัจธรรม เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อให้เป็นสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุ มรดกทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ และเพื่อสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ไทยให้คงอยู่สืบชั่วลูกชั่วหลานสืบไป
ช้างเอราวัณ หรือ ช้างสามเศียรเป็นประติมากรรมลอยตัวด้วยวิธีเคาะมือแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำจากโลหะทองแดง แผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือ นำมาเรียงต่อกันด้วยความประณีตนับแสนชิ้น ตัวช้างรวมอาคารมีความสูง 43.60 เมตร (หรือสูงขนาดตึก14-17 ชั้นโดยประมาณ)
อาคารพิพิธภัณฑ์ช้าง เอราวัณแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนบนของตัวช้าง เฉพาะส่วนหัวมีน้ำหนักประมาณ 100 ตัน ลำตัวช้างหนัก 150 ตัน สูง 29 เมตร กว้าง 12 เมตร และยาว 39 เมตร ตัวช้างออกแบบให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุมีค่า เช่น ภาพวาดสีฝุ่นรูปจักรวาล พระพุทธรูปปางลีลา บริเวณท้องช้างปูด้วยไม้มะเกลือสีออกดำ ส่วนล่างของตัวช้าง เป็นฐาน โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารศาลามีความสูง 14.60 เมตร กระจายน้ำหนักตัวช้างด้วยคานวงแหวนรอบนอกและรอบใน บนอาคารถ่ายน้ำหนักลงเสาแปดเสาภายนอกและสี่เสาภายใน อาคารศาลาการตกแต่งเป็นการผสมผสานศิลปะหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้กระจกสีแบบศิลปะตะวันตก, เครื่องเบญจรงค์สลับลวดลายสอดสี, การดุนโลหะบนแผ่นดีบุกของช่างเมืองนครศรีธรรมราช และรูปปั้นโบราณชนิดต่าง ๆ อาทิ คนธรรพ์บรรเลงดนตรี รูปพญานาค ของช่างเมืองเพชร
ส่วนชั้นใต้ดินที่เรียกว่า “ชั้นบาดาล” เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการและโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูป เทวรูปสมัยต่าง ๆ และเครื่องลายครามของจีน ระเบียงรอบนอกตัวอาคารประกอบด้วยซุ้มแปดซุ้ม รอบพิพิธภัณฑ์เป็นอุทยานพรรณไม้ในวรรณคดี และพันธุ์ไม้หายากจากทุกภูมิภาคของประเทศ มีงานประติมากรรมลอยตัวเรื่องรามเกียรติ์ วางเรียงรายล้อมรอบอาคาร
ชั้นที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการ
ชั้นที่ 2 เป็นห้องโถง มีบันไดเงินบันไดทองประดับลวดลายปูนปั้นทองทอดขึ้นไปสู่ชั้น 3
ชั้นที่ 3 เป็นห้องพักบันได บนเพดานตกแต่งด้วยสเตนกลาส ทำเป็นแผนที่โลก
ชั้นที่ 4 เป็นห้องพักรอก่อนที่จะขึ้นสู่ชั้นบนสุด
ชั้นที่ 5 อันเป็นส่วนของท้องช้าง ซึ่งมีความสำคัญที่สุด จะจัดแสดงวัตถุโบราณ
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (Erawan Museum) ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ขาเข้าจังหวัดสมุทรปราการ เปิดทำการตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ค่าบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ โดยไม่เข้าชมภายในตัวพิพิธภัณฑ์ (ชมภายในและภายนอกพิพิธภัณฑ์) ผู้ใหญ่ 150 บาท, เด็ก (อายุ 6-15 ปี) 50 บาท และถ้าจะสักการะภายในพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ต้องเสียค่าบัตรบำรุง 50 บาท (พร้อมดอกไม้ ธูป เทียน) สามารถเดินชมบริเวณสวนได้โดยรอบ เปิดสักการะตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2371 3135-6 โทรสาร. 0 2380 0304 หรือ www.erawan-museum.com
ขอขอบคุณ http://pantip.com/