ประเพณีถือศีลกินผัก : ศาลเจ้ากะทู้ (ไล่ทู่เต้าบูเก้ง)

Katoo6

ห่างหายไปจากบล็อก ๓ – ๔ วันที่ผ่านมา เนื่องจากผมมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมวิถีชีวิตชุมชนของคนภาคใต้ที่ จ.ภูเก็ต ในหลาย ๆ ชุมชนเชียวครับ เช่น ชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขระหว่างชาวไทยพุทธกับไทยมุสลิม หรือจะเป็นหมู่บ้านทางวัฒนธรรม เป็นต้น สำหรับวันนี้ก็ขอนำเสนอเรื่องราวของชุมชนไทย – จีน ณ ชุมชนกะทู้ ก่อนครับ เพราะว่าตรงกับช่วงเทศกาลพอดี

ย้อนอดีตไป ในปี พ.ศ. ๒๓๕๓ พม่ายกทัพมาตีเมืองภูเก็ต (เมืองถลาง) พม่าล้อมอยู่ได้ ๒๗ วัน เมืองถลางจึงเสียแก่พม่า พลเมืองถลางจึงอพยพหลบหนีไปเมืองพังงา อีกส่วนหนึ่งหนีไปทางตอนใต้ คือ บ้านกะทู้

โดยจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสซึ่งปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์ชาติไทย เขียนไว้ว่า ในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เขตแดนเมืองภูเก็ตกับเมืองถลาง ซึ่งคงแบ่งปันกันไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ปรากฏว่าอยู่ในพงศาวดารเมืองถลาง ดังนี้

เขตแดนเมืองภูเก็ตกับเมืองถลางเอาบางคูคด ซึ่งตามคลองเป็นแดน ตามแนวเขตแดนที่แบ่งกั้นนี้ เมืองถลาง อยู่ทางเหนือของเกาะ และเมืองภูเก็ตอยู่ทางใต้ ฉะนั้น ในปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ชุมชนแห่งแรกที่เติบโตเป็นตัวเมืองภูเก็ต ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) คือ บ้านกะทู้ อำเภอกะทู้

เนื่องจากที่ดินในบริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุก ผู้คนจึงหลั่งไหลไปขุดค้นทรัพย์ในดินกันอย่างมากมาย ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ทั้งที่อพยพมาจากเมืองถลางเดิมและมาจากเมืองจีน มีไข้ป่า ตลอดจนภยันตรายต่าง ๆ จากสัตว์ป่ามากมาย แต่ผู้คนในหมู่บ้านกะทู้กลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งได้นำวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของตนเข้ามาผสมผสานกับผู้คนในท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน

คนจีนในกะทู้สมัยนั้นมีความเชื่อและศรัทธา ในพระจีนอันประกอบด้วย เซียน หรือเทวดาหลายองค์ตามลัทธิเต๋าที่ตนนับถือ เมื่อบุกเบิกพื้นที่ทำมาหากินจึงหาวิธีแก้ไขทุกขภัยธรรมชาติต่าง ๆ ด้วยการอัญเชิญพระหรือเจ้าแต่ละองค์ที่ตนนับถือมากราบไหว้บูชา ให้คุ้มครองปกปักษ์รักษาตนเองและครอบครัว ท้องถิ่นที่ตนอาศัยให้ร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน

ต่อมาไม่นานได้มีคณะงิ้วเดินทางมาจากเมืองจีน มาเปิดการแสดงที่บ้านกะทู้ ซึ่งสามารถปักหลักการแสดงอยู่ที่บ้านกะทู้ได้ทั้งปี เนื่องจากเศรษฐกิจของชาวกะทู้ในสมัยนั้นดีมาก มีเงินเพียงพอที่จะอุดหนุนชมการแสดงงิ้วคณะนี้

แต่แล้วผู้แสดงในคณะงิ้วเกิดเจ็บป่วยขึ้น ทำให้คณะงิ้วคิดได้ว่า พวกตนละเลยไม่ได้ประกอบพิธีกินผักซึ่งเคยกระทำเป็นประจำทุกปีที่เมืองจีน จึงตกลงกันประกอบพิธีกินผักขึ้นที่โรงงิ้วนั่นเอง ภายหลังการประกอบพิธีกินผักที่โรงงิ้วเสร็จแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็หายไปจนหมดสิ้นทำความประหลาดใจให้ชาวกะทู้เป็นอย่างมาก

จึงขอวิธีการประกอบพิธีกินผักเพื่อจัดทำกันในชุมชนกะทู้บ้าง จึงได้เริ่มพิธีกินผักกันที่บ้านกะทู้ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ไปจนถึง วันขึ้น ๙ ค่ำ รวม ๙ วัน ๙ คืน เพื่อการถือศีล ปฏิบัติธรรม ชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และท้องถิ่น

ในครั้งนั้น จึงใช้สถานที่ประกอบพิธีกินผักเป็นครั้งแรก ซึ่งสร้างเป็นโรงเรือนที่ข้างบ้านนายไฮ้ไส้ (ปัจจุบันเป็นที่ดินเอกชน อยู่ก่อนถึงศาลเจ้ากะทู้ หรือ ไล่ทู้เต้าบูเก้ง ประมาณ ๕๐ เมตร) เมื่อบรรดาชาวจีนในหมู่บ้านกะทู้ บ้านเก็ตโฮ่ ร่วมกันยึดถือประเพณีกินผักตามแบบอย่างของคนคณะงิ้วแล้วเกิดผลดี โรคภัยไข้เจ็บของคนในหมู่บ้านลดน้อยลง

และเมื่อคณะงิ้วดังกล่าวย้ายสถานที่ไปแสดงที่อื่น ได้มอบรูปพระเล่าเอี๋ย พระลี้โล้เซี้ย ให้ชาวกะทู้ได้บูชา ชาวบ้านจึงรวมตัวจัดตั้งศาลเจ้าขึ้น ตั้งชื่อว่า ศาลเจ้ากิวอองหยา ต่อมา มีผู้รู้ได้เดินทางไปอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ ควันธูป (เฮี้ยวโห้ย) หรือควันไฟ (เฮี้ยวเหี้ยน) พร้อมตำราเลี่ยนตุ่ย (ป้ายชื่อ) มาจามณฑลกังไซ้ ประเทศจีน

ในวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ (จีน) ชาวกะทู้ ได้ต้อนรับที่หัวท่าบางเหนียว (สะพานหิน) และเมื่อถึงสถานที่ศาลเจ้าบ้านกะทู้ ท่านผู้รู้ได้อัญเชิญป้ายเต้าบูเก้ง (สถานที่ชุมนุมของดวงพระวิญญาณ) แล้วจึงได้กระทำพิธีกินผักตามประเพณีดั้งเดิมที่สมบูรณ์แบบ แต่นั้นมา

ท่านผู้รู้เล่าว่า “เมื่อครั้งตนเดินทางไปมณฑลกังไซ้ ได้เข้าไปยังสถานที่ประกอบพิธีกินผักของศาลเจ้าในมณฑลกังไซ้ด้วย ได้พบกับพระสงฆ์ซึ่งพำนักอยู่สถานที่แห่งนั้น พระสงฆ์นำไปดูรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมพิธีกินผักของศาลเจ้ากินผักกะทู้ ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในศาลเจ้าของมณฑลกังไซ้ ซึ่งผลมาจากการกระทำพิธีส่างกิ้วอ๋องเอี๋ยนนั้นเอง เมื่อชาวกะทู้ทราบความ จึงบังเกิดความศรัทธาในพิธีกินผักมากยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .