ศาลาสี่สมเด็จ
ศาลาสี่สมเด็จ เป็นศาลาจตุรมุขพื้นศิลา หลังคาประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวร่วมกับสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนีอีก 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช โดยพระองค์พระราชทานนามศาลาแห่งนี้ว่า ศาลาสี่สมเด็จ ไว้เป็นที่พักผ่อนสำหรับพระสงฆ์และสามเณร ปัจจุบัน ศาลาสี่สมเด็จใช้เป็นหอกลอง
บริเวณหน้าบันทั้ง 4 ด้านของศาลาสี่สมเด็จได้จำหลักลายไทยเป็นตราประจำพระองค์ของแต่ละพระองค์ไว้ ได้แก่ ตราพระเกี้ยว พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราจันทรมณฑล ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ ตราจักร ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และ ตราสุริโยทัย ตราประจำพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระที่นั่งทรงธรรม
เป็นตึก ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูนตลอด พื้นชั้นล่างและบันไดปูหินอ่อน ชั้นบนปูไม้ หลังคา ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ช่อฟ้าใบระกาลงรักปิดทองทึบ หน้าบันทั้ง ๔ ด้าน จำหลักภาพต่าง ๆ ปิดทองประดับกระจก ภายในผนังเสมอกรอบหน้าต่าง ประกบแผ่นหินอ่อนสีขาว เสาเขียนลายรดน้ำเทพนม ตั้งธรรมาสน์กลางห้อง ด้านใต้กั้นพระฉากดีบุกฉลุลายไทยเทพนมและกุมภัณฑ์ เพื่อเป็นที่ประทับของฝ่ายใน พระที่นั่งทรงธรรมนี้ “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี” ทรงสร้างอุทิศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ใช้เป็นที่ประทับแรมเวลาทรงธรรมรักษาอุโบสถศีล ต่อมาได้เคยใช้เป็นที่ประชุมสังฆมนตรี, ที่ศึกษาพระปริยัติธรรม จัดงานประจำปีของวัด ตั้งพระศพและศพบุคคลสำคัญของชาติ ในเวลาตั้งพระศพศาลาแห่งนี้มีศักดิ์เป็นรองจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เช่น พระศพของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระศพพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต พระศพสมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถระ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นต้น ปัจจุบันคงใช้ในกิจกรรมของวัด และตั้งพระศพหรือศพบุคคลสำคัญ
Read more »