วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) รำลึก ภิกขุ ปัญญานันทะ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดอุโมงค์ – พระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ที่พระเจ้ากือนาทรงโปรดให้บูรณะขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปสักการะได้ หลักศิลาจารึกการบูรณะซ่อมแซมวัดอุโมงค์ ที่คณะพุทธนิคมได้จัดทำขึ้นตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโมงค์ เสาหินอโศกจำลอง ตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโมงค์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง อยู่บริเวณหน้าอุโมงค์แสดงเศียรพระพุทธรูปที่ชำรุด โรงภาพปริศนาธรรมเป็นสถานที่แสดงภาพที่แฝกคำสอนทางพุทธศาสนา มีประชาชนให้ความสนใจเข้าชมจำนวนมาก หอสมุดธรรมโฆษ ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์และให้บริการยืมเทปธรรมะ ชั้นล่างทำเป็นห้องสมุดบริการแก่ประชาชนทั่วไป เปิดทุกวันยกเว้นวันพระ และวันหยุดประจำปี สระน้ำภายในวัดอุโมงค์มีสัตว์ เช่น ปลา เต๋า นก และสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ภาพจิตรกรรมในอุโมงค์ ซึ่งมีความเก่าแก่และมีคุณค่าทางด้านศิลปะประวัติศาสตร์มาก

ด้วยในวันนี้เป็นวันแรกของการบำเพ็ญกุศลศพหลวงพ่อปัญญานันทภิขุ เรื่องราวของวัดอุโมงค์จึงกลับขึ้นมาสู่ความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) หรือ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในซอยหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” เป็นชื่อเรียกวัดเก่าแก่ที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงสร้างขึ้น เพื่อถวายพระมหาเถรจันทร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกพำนักจำพรรษาในวัดแห่งนี้ “วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม” เป็นชื่อใหม่ที่ “ภิกขุ ปัญญานันทะ” ประธานสงฆ์วัดอุโมงค์ ในช่วง พ.ศ. 2492 – พ.ศ. 2509 ตั้งขึ้นเพื่อเรียกสถาปนาป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมวัดร้างโบราณ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ เป็นที่อยู่ของภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และผู้แสวงหาความสงบ รวมเอาวัดไผ่ 11 กอ (วัดเวฬุกัฏฐาราม) และวัดอีก 4 วัด ที่อยู่ใกล้ๆ เอาไว้ ด้วย เป็นอาณาบริเวณวัดอุโมงค์ที่รู้จักกันทุกวันนี้

ประวัติวัดอุโมงค์ มีหลักฐานทางด้านตำนานไม่ค่อยชัดเจนนัก จึงต้องใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์วัดอุโมงค์ด้วย ประวัติวัดอุโมงค์ตามตำนานปัญหาเถรจันทร์ ซึ่งตามธรรมเนียมไทยในกษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่จะขึ้นครองราชสมบัติ จะต้องสร้างบ้านเมือง พระราชวัง รวมทั้งวัดประจำรัชการ เพื่อเป็นการแสดงว่ากษัตริย์มีความสนใจด้านการเมือง การปกครอง รวมทั้งทำนุบำรุงศาสนา และมีความสนใจในด้านศาสนา

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระเจ้ามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายได้ทรงสร้างอาณาจักรล้านนาร่วมกับพระสหาย 2 พระองค์ คือ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช เจ้าผู้ครองนครสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง เจ้าผู้ครองนครพะเยา มาสร้างเมืองที่เวียงเหล็ก (บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) และได้ตั้งนามเมืองใหม่ว่า “เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่”

หลังจากที่พระองค์ทรงสร้างเมืองและพระราชวังเสร็จแล้วพระองค์ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาทรงสร้างวัด เช่น วัดเชียงมั่น วัดเก้าถ้าน และวัดไผ่ 11 กอ (วัดเวฬุกัฎฐาราม) เป็นต้น วัดเวฬุกัฎฐาราม (วัดไผ่ 11กอ) เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์จากลังกามาจำพรรษา และสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาจากลังกามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านนาเป็นครั้งแรกด้วย โดยพระองค์โปรดให้พระมหากัสสปะ เป็นผู้วางแผนผังวัดออกเป็นสัดส่วน โดยจัดเป็นเขตพุทธวาส (สถานที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น เจดีย์ อุโบสถ) และสังฆาวาส พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นในวัดไผ่ 11 กอ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกา เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ (มีขนาดเล็กกว่าพระเจดีย์องค์ปัจจุบันในวัดอุโมงค์) เมื่อวัดถูกสร้างเรียบร้อยแล้วพระองค์โปรดให้เฉลิมฉลองและตั้งชื่อว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) และพระองค์ทรงนิมนต์คณะสงฆ์ลังกามาจำพรรษา และเผยแผ่พระพุทธศาสนาในล้านนา พระสงฆ์ในวัดเวฬุกัฏฐารามเป็นที่ศรัทธาและเลื่อมใสของกษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งประชาชน เนื่องจากพระสงฆ์จากลังกาที่มาจำพรรษาในวัดนี้มีความรู้ในธรรมวินัยดี มีความสามารถมากในการแสดงธรรม และมีความประพฤติที่เคร่งครัดในระเบียบวินัยมากกว่าพระสงฆ์อื่น ๆ

หลังจากพระเจ้ามังรายสวรรคต พุทธศาสนาในอาณาจักรก็เริ่มเสื่อมลง เนื่องจากเกิดการแย่งชิงราชสมบัติในเชื้อพระวงศ์ ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าผายู พุทธศาสนาในล้านนาก็เจริญขึ้นอีกครั้ง พระองค์ทรงทำนุบำรุงศาสนาและเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอันมาก

หลังจากพระเจ้าผายูสวรรคตแล้ว ได้อันเชิญเจ้าท้าวกือนา จากเมืองเชียงแสน มาราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์มังราย ทรงพระนามว่า “พระเจ้ากือนาธรรมิกราช” พระองค์ทรงทำนุบำรุงศาสนาและโปรดให้บูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม โดยโปรดให้ซ่อมแซมองค์พระเจดีย์องค์เดิม โดยให้พอกปูนซ่อมแซมพระเจดีย์แต่ให้มีทรวดทรงของพระเจดีย์องค์เดิมอยู่ เมื่อซ่อมแซมพระเจดีย์เสร็จ ทรงโปรดให้สร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของพระเจดีย์ มีทางเดินภายในอุโมงค์ 4 ช่อง แต่ละช่องมีทางเดินติดต่อกันได้ และผนังภายในอุโมงค์มีการเจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้สว่างเป็นระยะ

ภายในอุโมงค์มีภาพจิตรกรรมอยู่บริเวณเพดานโค้ง เป็นลวดลายจิตรกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนและพม่า สีที่ปรากฏในงานจิตรกรรมเป็นสีแดงชาด เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงามและประณีตมาก

ตามตำนานเถรจันทร์ อุโมงค์นี้สร้างไว้เพื่อทำวิปัสสนาสำหรับพระเถระจันทร์ที่พญากือนาทรงโปรด แต่จิตรกรรมฝาผนังในอุโมงค์นี้คาดว่าสร้างหลังพญากือนา

ลวดลายที่คัดลอกออกมาได้จากอุโมงค์นั้นมีลักษณะคล้ายลวดลายประดับผนัง (Wallpaper) ซึ่งมีภาพเป็นลวดลายซ้ำๆ กันตลอดช่วงของอุโมงค์

งานจิตรกรรมฝาผนังกลุ่มที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ในช่วง ๕๐๐-๗๐๐ ปีในประเทศไทยมีอยู่ไม่เกิน ๑๐ ชิ้น ส่วนใหญ่พบที่อยุธยา สุโขทัย ลพบุรี ราชบุรี และพบในล้านนาก็มีเพียงชิ้นเดียวคือที่วัดอุโมงค์ จึงเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสำคัญมาก ลวดลายต่างๆ บนจิตรกรรมน่าจะได้มาจากเครื่องถ้วยจีน ลายผ้าและเครื่องเขิน โดยหลักฐานที่มีในปัจจุบันคือ เครื่องถ้วยจีนที่มีลายดอกไม้และนกของจีน ซึ่งพบในเชียงใหม่และลำพูนนั้นมีลวดลายตรงกันกับลวดลายในจิตรกรรมวัดอุโมงค์ ตัวอย่างเช่น ลายนกยูงนั้นได้มาจากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน เป็นต้น
ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .