วัดอนาลโยทิพยาราม

วัดอนาลโยทิพยาราม ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัมห่างจากตัวจังหวัด 20 กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือตามทางหลวงหมายเลข 1 (พะเยา – เชียงราย) ประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1127 – 1193 อีก 9 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอดสาย บริเวณดอยบุษราคัม และม่อนพระนอน ประกอบด้วยพระพุทธรูปศิลปสุโขทัยลักษณะงดงามมาก และยังมีพระพุทธรูปปางต่างๆ อีกหลายองค์ อาทิ พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางลีลา พระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างด้วยความประณีตสวยงามแบบศิลปไทย รัตนเจดีย์ เป็นศิลปะแบบอินเดียพุทธคยา เก๋งจีนประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม หอพระแก้วมรกตจำลอง จากยอดเขาสามารถชมทัศนียภาพของกว๊านพะเยาและเมืองพะเยาได้อย่างสวยงาม ขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางบันไดและทางรถยนต์ มีที่พักแบบรีสอร์ทบนวัด

ประวัติโดยสังเขป

พระเทพวิสุทธิญาณ (พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล) ซึ่งเป็นพระผู้สร้างวัดรัตนวนาราม จังหวัดพะเยา โดยเริ่มจากศาลาหลังเดียว จากสภาพป่ารกร้าง และซากปรักหักพังของพระพุทธรูปที่ได้มีชาวบ้านที่ศรัทธาพระอาจารย์ไพบูลย์นำมาประกอบกันจนครบองค์พระที่สมบูรณ์ได้ 2 องค์ เรียกขานกันว่าหลวงพ่อเกษมและหลวงพ่อสุข ประดิษฐานในหลังคาเดียวกันเรียกรวมกันเป็นแฝดว่าหลวงพ่อเกษม-สุข ประมาณ ปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ หลังจากนั้นท่านได้นิมิตเห็นสายทรายทองคำหลั่งไหลลงมายังวัดรัตนวนารามเหมือนแม่น้ำไหลมาจำนวนมากมากองอยู่ที่วัดรัตนวนารามเป็นกองมหึมา เมื่อท่านมองไปยังต้นสายจึงเห็นเป็นเขาลูกหนึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของกว๊านพะเยาซึ่งหลังจากนั้นอีก 2 ปี ได้มีญาติโยมอาราธนานิมนต์ท่านไปสร้างวัดบนเขาลูกนั้นที่ชาวบ้านเล่าว่าเคยเห็นแสงสีเหลืองเหมือนทองสุกสว่างอาบไปทั่วทั้งเขา ซึ่งมักจะได้เห็นกันในช่วงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจึงได้ขนานนามเขาลูกนั้นว่าดอยม่อนแก้ว ท่านมิได้รับปากสร้างวัดแต่อย่างใดเพราะเห็นว่าเวลานั้นการสร้างวัดรัตนวนารามก็เป็นภาระอย่างใหญ่หลวงแล้ว

คืนหนึ่งหลังจากกลับจากนิมนต์ท่านฝันว่าท่านได้เหาะขึ้นไปบนเขาลูกหนึ่งห่างจากบ้านสันป่าบงประมาณ 2 กิโลเมตร เห็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทองคำเหลืองอร่ามสวยงามและท่านได้กราบนมัสการพระพุทธรูปนั้นด้วยความเต็มตื้นศรัทธา ท่านอดคิดไม่ได้ว่า มหามงคลนิมิตนี้แสดงว่าเขาลูกนี้คงเหมาะเป็นที่ปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ได้บอกใคร

ตั้งแต่นั้นมาญาติโยมฟากนั้นของกว๊านก็ได้เดินทางมากราบท่านแทบทุกอาทิตย์ โดยทุกครั้งก็จะอาราธนานิมนต์ท่านไปสร้างวัดบนเขาลูกนั้นอยู่ทุกครั้ง จนเวลาผ่านไป 3 ปี ท่านจึงคิดว่าศรัทธาของญาติโยมที่ต้องการสร้างวัดแห่งนี้มีความแน่วแน่มั่นคงท่านจึงถามว่าเพราะเหตุไรจึงต้องการสร้างวัดนี้นัก ชาวบ้านตอบว่าเคยเห็นแสงสว่างเป็นดวงกลมสีเหลืองเหมือนทองอาบยอดเขาลูกนี้ และมีผีดุ เจ้าที่แรง ชาวบ้านที่ทำไร่ทำนาอยู่บริเวณนี้จะต้องกลับแต่หัววัน อยู่พักผ่อน หรือนอนพักไม่ได้เด็ดขาด หลายคนเห็นชายร่างใหญ่สีดำมากระตุกขา มาทำให้ตกใจตื่น มาทำให้เกิดความกลัว บางคนเสียสติ บางคนจับไข้จนทำมาหากินไม่ได้ ท่านได้ฟังแล้วก็เกิดความเมตตาสงสารชาวบ้านจึงตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ถ้ามีโอกาสคงได้ไปร่วม”

ต่อมาเมื่อเข้าถึงความสงบก็นิมิตเห็นชายร่างใหญ่สูงดำพร้อมบริวารตรงเข้ามาเหมือนจะทำร้ายท่าน ท่านก็แผ่เมตตาไปชายร่างใหญ่เหล่านั้นก็ก้มกราบพร้อมมอบดาบให้ท่าน ท่านตอบว่าท่านเป็นพระไม่สามารถรับอาวุธนั้นได้ ให้ท่านเก็บรักษาไว้ตามเดิมเถิด ชายร่างดำสูงใหญ่นั้นได้บอกกับท่านว่า หากท่านจะมาสร้างวัดอยู่ ณ ที่แห่งนี้กระผมไม่ขัดข้อง มีแต่ความดีใจ เต็มใจและอนุโมทนาด้วยแต่ขอให้สร้างเป็นวัดหลวงปู่ขาวเถิด ซึ่งท่านไม่ขัดข้องเพราะในตอนนั้นแทบไม่มีใครไม่รู้จักหลวงปู่ขาว อนาลโย การใช้ชื่อนี้จึงนับว่าเป็นนามมงคลดีแล้ว

ในราวปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ ท่านนำคณะอีก 2-3 รูป และชาวบ้านขึ้นไปสำรวจบริเวณดังกล่าวที่เรียกกันว่า ดอยม่อนแก้ว โดยเห็นว่าเป็นที่ที่มีความสงบด้วยมองเห็นกว๊านพะเยาทั้งยามพระอาทิตย์ขึ้นและยามพระจันทร์ส่องแสงระยิบระยับบนผิวน้ำทำให้จิตใจสงบได้ง่าย อีกทั้งการเดินทางบิณฑบาตรก็พอทำได้ไม่ลำบากมากนักจึงตั้งเป็นสำนักสงฆ์อนาลโย บนม่อนพระนอน ต่อมาด้วยกระแสศรัทธาจากญาติโยมทั่วทุกสารทิศที่หลั่งไหลมา จนเริ่มมีผู้คิดสร้างเป็นวัดจึงได้ขออนุญาตสร้างวัดขึ้นกับทางกรมป่าไม้ จึงได้มีการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียดจึงพบว่าที่ม่อนพระนอนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีพื้นที่ไม่เหมาะสมเพราะหากสร้างอาคารขึ้นคงต้องมีการตัดไม้สูงใหญ่จำนวนมาก จึงได้พบกับม่อนเขาอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีลักษณะต่อกันกับม่อนพระนอนเดิมเพียงแต่มีช่องเขาขาดกั้นอยู่เท่านั้น มีพื้นที่เป็นแนวยาวตามสันเขาเหมาะแก่การสร้างวัดมากกว่า จึงได้เลือกสร้างบนสถานที่ที่เห็นในปัจจุบัน

จนเมื่อเริ่มก่อสร้างก็พบว่ามีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ในระหว่างพระอาจารย์ไพบูลย์กำลังครุ่นคิดวิธีการแก้ไขปัญหาอยู่นั้น วันหนึ่งได้รับอาราธนานิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษินในพระบรมมหาราชวัง ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมมาถึงท่านอาจารย์ ทรงมีพระราชปฏิสันถารว่า “ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ได้ไปสร้างสำนักสงฆ์บนเขาสูงที่จังหวัดพะเยาทางฟากกว๊าน คงจะขาดแคลนน้ำ ไม่เป็นไรผมจะปรึกษากรมชลประทานให้”

วันพุธที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนมัสการ พระอาจารย์ไพบูลย์ สุมงฺคโล หัวหน้าสำนักสงฆ์อนาลโยเป็นการส่วนพระองค์ ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นทรงสำราญพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง ทรงสนทนาธรรมแล้วทรงเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ ที่ประทับรับรองของสำนักสงฆ์อนาลโย ตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น. จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ แล้วได้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน จัดสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม และอ่างเก็บน้ำห้วยทับช้าง เพื่อผันน้ำมาใช้บนสำนักสงฆ์ และจ่ายไปยังไร่นาของประชาชน จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมเป็นที่สุด

ขอขอบคุณ http://www.touronthai.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .