ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ เป็นที่ตั้งของ “วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร” หรือที่นิยมเรียกสั้นๆกันว่า “วัดกัลยาณมิตร”หรือ”วัดกัลยาณ์” เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)
การเดินทางมาเยือนวัดแห่งนี้ที่นิยมและสะดวกมาก คือการเดินทางมาโดยทางเรือ … ด้านหน้าของวัดมี “ศาลาท่าน้ำ” ผู้คนที่มาทำบุญที่วัดมักจะนิยมมาให้อาหารปลาและนกพิราบที่มีอยู่มากมายบริเวณศาลาท่าน้ำ นอกจากนี้บริเวณนี้ยังสามารชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างกว้างขวางสวยงามอีกด้วย
หลวงตา ผู้รู้ประวัติของวัดนี้เป็นอย่างดีเล่าว่า “แต่เดิม เจ้าพระยานิกรบดินทร์ เดิมชื่อ โต แซ่อึ่ง ต้นสกุลกัลยาณมิตร ครั้งยังป็นพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง เคยทำมาค้าขายกับรัชกาลที่ 3 อย่างซื่อสัตย์มานานจนสนิทเป็นมิตรกัน ในเวลาต่อมา เจ้าพระยานิกรบดินทร์จึงได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ มีกุฎิและศาลาเจ้าที่เรียกว่า เกียงอันเก๋ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้หมู่บ้านแห่งนี้ และเรียกกันต่อมาว่า “หมู่บ้านกุฎีจีน”
เมื่อชื้อที่ดินได้ตามประสงค์จึงสร้างเป็นวัดขึ้นมา แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2368 และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในปี พ.ศ.2370 และเนื่องจากเจ้าพระยานิกรบดินทร์ กับรัชกาลที่ 3 มีความสัมพันธ์เป็นมิตรที่ดีต่อกัน รัชกาลที่ 3 จึงได้พระราชทานนามให้วัดแห่งนี้ว่า “วัดกัลยาณมิตร” ตั้งแต่นั้นมา”
“พระวิหารหลวง” อันเป็นที่ประดิษฐานของ”พระพุทธไตรรัตนนายก” แห่งนี้ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ.2380 สร้างได้สัดส่วนงดงามมาก วางรากฐานโดยไม่ได้ตอกเสาเข็ม แต่ใช้วิธีขุดพื้นรูปสี่เหลี่ยม ฐานกว้างและใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเรียงทับซ้อนกัน 2-3 ชั้น
ลักษณะเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย ขนาดกว่าง 31.42 เมตร ยาว 35.48 เมตร ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชาย หน้าบันสลักลายดอกไม้ปูนปั้นประดับกระจก ประตูหน้าต่างเป็นไม้สักแผ่นเดียวเขียนลายรดน้ำลายทองรูปธรรมบาล ด้านในพระวิหารหลวงมีผนังเป็นลายดอกไม้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับการอนุรักษ์ซ่อมแซมโดยโครงการมรดกโลก
ด้านหน้าพระวิหารหลวงมีตุ๊กตาหินศิลปะจีน ที่เรียกว่า อับเฉา ตังเรียงรายหน้าพระวิหารหลวง หรือที่เรียกว่าเชียน ถัดจากนั้นมา มีซุ้มประตูหินศิลปะจีนตั้งอยู่ หรือที่เรียกว่า ประตูสวรรค์
นอกจาก รัชกาลที่ 3 จะทรงสร้างพระวิหารหลวงแล้ว ยังทรงสร้างพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ด้วยมีพระประสงค์จะให้เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่วัดพนัญเชิง กรุงเก่า
เมื่อก้าวเข้าไปภายในพระวิหารหลวง … สีทองอร่ามขององค์พระประธานขนาดใหญ่โตมากนั้นสะดุดตา สะดุดใจทุกคนที่เข้ามากราบไหว้กันมาก
พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระประธานของวิหารหลวงแห่งนี้ เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน แต่ชาวบ้านจะนิยมเรียกว่า”หลวงพ่อโต”ส่วนคนจีนก็จะเรียกว่า “ซำปอกง” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๕ วา ๓ ศอกคืบ สูง ๗ วา ๒ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว รัชกาลที่ 3 เสด็จก่อพระฤกษ์เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ อยู่ภายในพระวิหารขนาดใหญ่อยู่กลางวัด ตรงกลางระหว่างวิหารเล็กและพระอุโบสถ
“ซำปอกง” ของวัดเป็นซำปอกงองค์ใหญ่ที่เด่นๆจะมีเพียง 3 วัดในประเทศไทย ก็คือ วัดพนัญเชิง อยุธยา, วัดอุภัยภาติการาม ฉะเชิงเทรา และแห่งสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร ที่วัดกัลยาณมิตร นั่นเอง
พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ สีทองสุกใสอร่ามตา องค์สูงใหญ่ขนาดที่ฉันต้องเงยหน้าจนสุดจึงจะมองเห็นลักษณะใบหน้าของพระพุทธรูป
“หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า พระพุทธรูปแต่ละยุคแต่ละสมัยจะไม่เหมือนกัน … หลวงพ่อโตก็เช่นกัน เช่นหลวงพ่อโตที่วัดพนัญเชิง อยุธยา จะมีใบหน้าที่ค่อนข้างบึ้ง เนื่องจากอิทธิพลของบ้านเมืองที่มีความวุ่นวายและศึกสงคราม แต่มาในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมาก ดังนั้นหลวงพ่อโตที่วัดแห่งนี้จึงมีใบหน้าที่อมยิ้ม สะท้อนถึงลักษณะสังคมอันสงบสุขร่มเย็นในยุคนั้นๆ” ท่านผู้รู้อธิบาย
หากคุณมีโอกาสมากราบหลวงพ่อโตที่วัดกัลยาณมิตร ลองเงยหน้าจนสุดเพื่อมองดูใบหน้าขององค์หลวงพ่อโตดูนะคะ … จะเห็นว่า ใบหน้าขององค์หลวงพ่อโตที่วัดแห่งนี้จะมีลักษณะอมยิ้มนิดๆ ดูมีความสุขจนทำให้คนส่วนใหญ่ที่มาวัดไหว้พระทำบุญต้องยิ้มตอบท่าน เพื่อให้จิตใจสุขสงบ
หลายคนที่เคยไปเยือนวัดพนัญเชิง อยุธยา จะรู้ว่ามักจะมีพิธีห่มผ้าหลวงพ่อโตอยู่เสมอๆวันละหลายรอบ … จนอาจจะนึดในใจว่า เมื่อไหร่จะมีพิธีห่มผ้ากันสีกที แม้ผู้คนจะแวะเวียนเข้ามากราบไหว้อยู่ตลอดก็ตาม
“พิธีห่มผ้าหลวงพ่อโตนั้น ทางวัดได้ยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากว่ามันดูไม่เหมาะสม ไม่น่าดู เวลาฝรั่งมาเห็นมาถ่ายรูปไปเห็นคนขึ้นไปยืนอยู่บนพระพุทธรูปก็ดูไม่เหมาะไม่ควร อะไรๆมันอยู่ที่จิตใจ อยู่ที่การอธิฐาน ดังนั้นมันอยู่ที่จิตใจเรา มันไม่ได้อยู่ที่ผ้า ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ เพียงแต่ยกมือไหว้นับถือท่านก็ดีแล้ว อย่างเช่นเราเอาอะไรต่อมิอะไรมาถวาย เช่น พวกส้ม พวกผลไม้ ถามว่าท่านฉันได้ไหม..ท่านก็ฉันไม่ได้ จริงไหม” หลวงพ่อรูปหนึ่งที่วัดอธิบาย
แต่ถึงอย่างนั้นผู้คนก็นิยมถวายสิ่งของต่างๆ เพื่อความสบายใจ ซึ่งสำหรับหลวงพ่อโตองค์นี้ ผู้คนที่มาบนบานสารกล่าวมักจะขอกับองค์หลวงพ่อโตในทุกๆเรื่อง ทั้งเรื่องการค้าขาย ความเจ็บป่วย และความไม่สบายใจทั้งปวง
มีเรื่องที่เล่ากันมาว่า เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินทิ้งระเบิดลงตรงวัดกัลยาณมิตรแห่งนี้พอดี แต่ไม่เป็นอันตราย ชาวบ้านในละแวกเชื่อกันว่าเพราะองค์หลวงพ่อโตได้เอามือรับระเบิดแล้วเหวี่ยงไปที่สะพานพุทธฯ จึงทำให้คนที่มาหลบในวิหารปลอดภัย … เรื่องนีจะจริงหรือไม่ก็พ้นวิสัยที่คนอย่างเราๆท่านๆจะรู้ได้ … แต่ที่แน่ๆ ปัจจุบันนี้มีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้หลวงพ่อโตกันอย่างต่อเนื่อง แม้วันนั้นจะไม่ใช่วันทางศาสนาหรือวันพิเศษใดๆ นั่นทำให้แน่ใจได้ว่าแม้สังคมจะเจริญไปมากเพียงใด แต่คนไทยก็ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ วัยชรา
ด้านข้างของพระวิหารมี “หอระฆัง” ที่สร้างขึ้นโดย พระสุนทรสมาจาร (พรหม) เมื่อปี พ.ศ.2476 ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 9 เมตร สูง 30 เมตร ด้านล่างใช้แขวน”ระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 192 เซนติเมตร หนักถึง 13 ตัน เลยทีเดียว ส่วนด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา … หอระฆังแห่งนี้เป็นอีกที่หนึ่งที่ผู้คนที่มาเยือนวัดกัลยาณมิตรมักจะแวะมาตีระฆังยักษ์ใบนี้กันรวมถึงฉันด้วย
ด้านข้างของพระวิหารทางทิศตะวันออกขนาบด้วย “พระอุโบสถ” ซึ่งเดิมเป็นที่ที่ตั้งบ้านของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ มีขนาดเล็กกว่าพระวิหาร เป็นอุโบสถที่ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง๒๑.๘๘ เมตรยาว ๓๑.๙๐ เมตร ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีน ไม่มีช่อฟ้าและใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับปูนปั้นลายดอกไม้ประดับกระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน ซุ้มประตูและหน้าต่างปั้นลายดอกไม้ประดับกระจก
พระอุโบสถ มีภาพจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ที่แทรกเรื่องราวชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคมอย่างยิ่งอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรูปเครื่องบูชาม้าหมู่แบบไทยปนจีน เสาเขียนลายทรงข้าวบินฑ์
“พระอุโบสถ” มีพระพุทธรูปหล่อปางปาลิไลยก์(ป่าเลไลย์)ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ขนาดอังสา กว้าง๖๐ เซนติเมตร สูง ๕.๖๕ เมตร ซึ่งถือเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุหรือเข่า พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ มักนิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย
ด้านหนึ่งของพระวิหารหลวงคือ “พระวิหารน้อย” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระวิหารหลวง ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมีภาพเขียนพุทธประวัติ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธดิรกโลกเชษและพระพุทธรูปปางต่างๆจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมี “หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ” ที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2408 แทนหอไตรหลังเดิม เพื่อเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ เป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน ระเบียงร้อมรอบ หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงษ์มีเชิงชาย หน้าบันสลักลายเปลวปิดทองประดับ ตรงกลางสลักพระพุทธรูปมหามงกุฎประดิษฐ์เหนือพานแว่นฟ้า ปานประตูและหน้าต่าง สลักลายดอกไม้ปิดทองประดับกระจก
ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/