ชื่อของวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจากชื่อของเมืองหริภุญชัย ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้เมื่อครั้งเสด็จมาบิณฑบาตในสมัยพระพุทธกาลและได้แวะรับและฉันลูกสมอ ที่ชาวลัวะนำมาถวาย โดยได้ทรงพยากรณ์ไว้ตอนนั้นว่าสถานที่แห่งจะมีผู้มาสร้างเมืองและตั้งชื่อว่า “หริภุญชัยนคร”
“คนไปลำพูนหากไม่ได้ไปกราบไหว้พระธาตุหริภุญชัยแล้วก็เหมือนกับว่ายังไม่เคยไปลำพูนเลย” เป็นคำกล่าวขานในหมู่ชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวล้านนาไทย เพราะว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของ จ.ลำพูน
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ตรงกับรัชสมัยของพญาอาทิตยราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ โดยสถานที่แห่งนี้เคยเป็นพระราชฐานของพระองค์ซึ่งพระราชทานอุทิศถวายให้เป็นวัดพระธาตุ เพื่อเป็นพุทธบูชาหลังจากที่พระบรมสารีริกธาตุได้ปรากฏให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรในบริเวณดังกล่าว มวลสารผงจากองค์พระบรมธาตุหริภุญชัยใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา
พระบรมธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง ประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุในโกศทองคำเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสัตถบัญชร (ระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วเหล็กและทองเหลือง) ๒ ชั้น สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม หอคอยประจำทุกด้านรวม ๔ หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน ๖ จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี
ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.๑๔๔๐ พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำ บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย ต่อมาใน พ.ศ.๑๙๘๖ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ เพราะในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับลังกา Read more »