สถานที่ตั้งวัด ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐๘ ถนนชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ภาค ๑๑ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๒๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๔๐ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๒๙ เมตร และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ กว้าง ๔๒ เมตร ยาว ๖๖ เมตร
วัดพายัพ (พระอารามหลวง) เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองเก่าอยู่ทางด้านทิศพายัพของเสาหลักเมืองจึงตั้ง ชื่อว่า “วัดพายัพ” โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองนครราชสีมา ซึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงครองราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงเลือกสถานที่ในการสร้างเมืองนครราชสีมา ทรงโปรดฯให้ช่างชาวฝรั่งเศสเขียนแปลนก่อสร้างเป็นรูปเหลี่ยม พื้นที่เมืองเก่าของนครราชสีมามีเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่ โดยการออกแบบให้มีคูคลองน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันข้าศึก มีกำแพงและประตูเมือง ๔ ประตู คือ ประตูชุมพล ประตูพลแสน ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์ (หรือประตูผี) ภายในกำแพงเมืองเก่าได้ทรงให้สร้างวัดขึ้นจำนวน ๖ วัด คือ วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร), วัดบึง, วัดพายัพ, วัดอิสาน, วัดบูรพ์, และวัดสระแก้ว