เดิมประเพณีกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) ที่ชาวบ้านและชาวจีนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตเรียกกันว่า “เจี๊ยะฉ่าย” นั้น เป็นลัทธิเต๋าซึ่งนับถือบูชาเซียนเทวดา เทพเจ้า วีรบุรุษ เป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน คำว่า “เจี๊ยะฉ่าย” (กินผัก) เป็นภาษาท้องถิ่น วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ (เก้าโง้ยโฉ่ยอีดถึงโฉ่ยเก้า) ตามปฏิทินจีนของทุกๆปี
ประเพณีเจี๊ยะฉ่าย ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้าน ไล่ทู (ในทู) ซึ่งเป็นหมู่บ้านกะทู้ ตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน คนจีนเหล่านั้นได้อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) มีการค้าขายแร่ดีบุกกับปอร์ตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น คนจีนเหล่านั้นได้หลั่งไหลเข้ามามากที่สุดก่อนปี พ.ศ.2368 คือหลังจากเมืองภูเก็ตและเมืองถลางถูกพม่ารุกรานเมื่อปี พ.ศ.2352 พลเมืองได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ครั้นพระยาถลาง (เจิม)ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลาง และได้ตั้งเมืองภูเก็ตที่บ้านเก็ตโฮ่ ให้พระภูเก็ต (แก้ว) มาเป็นเจ้าเมือง (ระหว่าง พ.ศ. 2368-2400)
พื้นที่รอบๆในทู (กะทู้) อุดมสมบรูณ์ไปด้วยแร่ดีบุก จึงทำให้คนจีนหลั่งไหลเข้ามาขุดแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนที่อพยพมาจากเมืองถลางเดิมที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และที่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน,ซัวเถาและเอ้หมึง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยอาศัยเรือใบผ่านมาทางแหลมมาลายู เป็นต้น หมู่บ้านในทูในสมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีไข้ป่า ตลอดจนภยันตรายต่างๆ จากสัตว์ป่ามากมาย แต่ผู้คนและชาวจีนในหมู่บ้านในทูกลับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก