ประวัติ วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร

7970_307987922621539_836647412_n

วัดกัลยาณมิตร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร เป็น
วัดขนาดใหญ่ตรงปากคลองบางกอกใหญ่ หน้าวัดอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา
ตรงข้ามกับโรงเรียนราชินี ตั้งอยู่เลขที่ ๓๗๑ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี
กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๑ งาน ๑๘ ตารางวา
เขตวิสุงคามสีมา หรือบริเวณพระอุโบสถ ด้านกว้าง ๓๑.๗๕ เมตร
ด้านยาว ๔๑.๕๓ เมตร ส่วนบริเวณของวัดโดยรอบ ทิศตะวันออกยาว
๒๖๒ เมตร มีคูข้างวัดเป็นเขต ติดต่อกับเนื้อที่บ้านราษฎร ทิศตะวันตก
ยาว ๒๖๖ เมตร มีเขื่อนข้างวัดเป็นเขต ติดต่อกับคลองบางกอกใหญ่
ทิศเหนือยาว ๒๐๖ เมตร มีเขื่อนหน้าวัดเป็นเขต ติดต่อกับแม่น้ำ
เจ้าพระยา ทิศใต้ยาว ๒๑๖ เมตร มีคูข้างวัดเป็นเขต ติดต่อกับเนื้อที่
ราษฎรและที่ธรณีสงฆ์ของวัดบางส่วน
ที่ธรณีสงฆ์วัดกัลยาณมิตรนั้นมีอีก ๘ แปลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าบีเอตริศภัทรายุวดี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
เจริญศรีชนมายุ [(พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาแสง ธิดาพระยาไชยวิชิต (ช่วง กัลยาณมิตร
บุตรเจ้าพระยานิกรบดินทร)] ถวายวัดไว้จำนวนเนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๑ งาน
๖๐ ตารางวา คือ ที่ดินตำบลบ้านแขกตึกขาว อำเภอคลองสาน จังหวัด
ธนบุรี หรือในปัจจุบันคือที่ดินในซอยช่างนาค ถนนสมเด็จเจ้าพระยา
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

ผู้สร้างวัดและความสำคัญของวัด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
เจ้าพระยานิกรบดินทร (เจ้าสัวโต ต้นสกุลกัลยาณมิตร) ว่าที่สมุหนายก
ชื่อจีนว่า เต๋า แซ่อึ้ง เมื่อครั้งยังเป็นพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดี
กลาง (ชื่อกรมในสมัยโบราณ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีไพร่พล
ตลอดจนการเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ามาฝึกอาวุธและวิชาการรบ เพื่อเป็น
กำลังสำรองเวลาบ้านเมืองมีศึกสงคราม) ได้อุทิศที่บ้านและซื้อที่ดิน
บริเวณใกล้เคียงเพิ่มเติมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างพระอาราม ที่ดินบริเวณ
ที่จะสร้างวัดกัลยาณมิตรนี้เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีดิน เป็นแม่น้ำ
ดอนขึ้น ครั้งกรุงธนบุรีเป็นที่จอดแพได้ ครั้นนานวันผันกลับดอนเป็นดิน
กลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ได้รับพระราชทาน
ที่ดินจากพระมหากษัตริย์ไทย เช่น หลวงพิชัยวารี (เจ้าสัวมั่ง แซ่อึ้ง)
บิดาของเจ้าพระยานิกรบดินทร ชุมชนย่านนี้นอกจากชาวจีนแล้ว ยังเป็น
ที่อยู่อาศัยของทั้งชาวโปรตุเกส ชาวมุสลิม ชาวไทย และยังมีพระภิกษุจีน
พำนักอยู่ด้วย ชาวบ้านจึงเรียกย่านนี้ว่า ชุมชนกะดีจีน หรือกุฎีจีน
การก่อสร้างพระอารามเริ่มลงมือเมื่อปีระกา พ.ศ.๒๓๖๘ เป็น
ปีที่ ๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาท
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัด
กัลยาณมิตร” ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓
บันทึกไว้ว่า “…เจ้าพระยานิกรบดินทรยกที่บ้านเดิมของท่าน แล้วซื้อที่
บ้านข้าราชการและบ้านเจ้าสัว เจ้าภาษี นายอากรอื่นอีกหลายบ้านสร้าง
เป็นวัดใหญ่ พระราชทานชื่อ วัดกัลยาณมิตร แต่พระวิหารใหญ่เป็นของ
หลวง…”
นามพระราชทานวัดว่า “วัดกัลยาณมิตร” ที่หมายถึง มิตรดีหรือ
เพื่อนดี เพื่อนผู้มีกัลยาณมิตร คงมาจากความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ที่มี
ต่อเจ้าพระยานิกรบดินทร ผู้สร้างวัดนี้ ซึ่งได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิม
ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่พระองค์ยังดำรง
พระยศในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ประทับอยู่ที่วังท่าพระ
ทรงกำกับราชการกรมท่า เจ้าพระยานิกรบดินทรได้เข้านอกออกในวัง
ท่าพระทุกวัน จนคุ้นเคยสนิทสนมกับข้าในวังโดยเฉพาะห้องเครื่อง
เพราะท่านเป็นผู้จัดทำแกงจืดอย่างจีนที่เรียกว่า “เกาเหลา” ถวายเสด็จ
ในกรมฯ เลี้ยงบรรดาเจ้านายข้าราชการที่เมื่อออกจากเฝ้าทูลละอองธุลี
พระบาทรัชกาลที่ ๒ แล้ว ส่วนมากมักแวะมาพักและรับประทานอาหาร
ว่างที่วังท่าพระก่อน
เสด็จในกรมฯ ทรงค้าขายทางสำเภาด้วย ทำให้เจ้าพระยานิกร-
บดินทรได้ค้าขายสำเภาร่วมกับพระองค์ทั้งก่อนและภายหลังเสด็จเถลิง
ถวัลยราชสมบัติ และจะเห็นได้จากการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สร้างพระวิหารหลวงพระราชทานช่วยเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทรสร้าง
วัดถวาย ด้วยทรงพระเมตตากรุณารักใคร่เป็นพิเศษ พร้อมกับเสด็จ
พระราชดำเนินก่อพระฤกษ์พระโต เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๘๐
พระราชทานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง พระพุทธรูปขนาดใหญ่
องค์นี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย ด้วยมีพระราช
ประสงค์จะให้เหมือนกรุงเก่า คือมีพระโตอยู่นอกกำแพงเมือง อย่าง
เช่นวัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์
พระราชทานช่วยเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และสร้างศาลา
การเปรียญพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร ผู้เป็นกัลยาณมิตร
ของพระองค์
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
๔ เสด็จขึ้นครองราชย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอไตร ณ วัดกัลยาณมิตร
เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ พระราชทานนามว่า “หอพระธรรมมณเฑียรเถลิง
พระเกียรติ” ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแห่งพระบรมราชมาตามหัยยิกา
กรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ผู้เป็นพระเชษฐภคินี ในพระบาทสมเด็จ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบรมราชมาตามหัยยิกาธิบดี พระภัสดา
ในกรมพระศรีสุดารักษ์ (ขรัวเงิน) ซึ่งเป็นพระชนนีและพระชนกใน
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าบุญรอด) พระอัครมเหสีใน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชชนนีใน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างตรงบริเวณที่จอดแพ
ของสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์มาก่อน เพื่อประกอบพระราชกุศลตาม
เสด็จพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช กับ
ทั้งเป็นการปูนบำเหน็จเชิดชูเกียรติของเจ้าพระยานิกรบดินทรด้วย [ใน
รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาราชสุภาวดี (โต)
เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร มหินทรมหากัลยาณมิตรฯ ที่สมุหนายก
สำเร็จราชการทั้งปวงในกรมมหาดไทย] นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปที่
ประดิษฐานในพระวิหารหลวง ซึ่งเดิมเรียกว่า “พระโต” ว่า “พระพุทธ
ไตรรัตนนายก” นามพระราชทานเหมือนกันกับที่พระราชทาน “พระโต”
วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินหลวง
พระราชทาน ณ วัดกัลยาณมิตร เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ นั้น ทรงทราบใน
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนก
ในการที่ทรงสร้างหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ จึงมีพระราช
ดำริถามถึง และมีพระบรมราชโองการว่า หากหอพระธรรมมณเฑียร
เถลิงพระเกียรติทรุดโทรมลงเมื่อใด ให้กราบบังคมทูล แล้วจะทรง
ซ่อมแซมด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และต่อมาเจ้าพระยารัตน-
บดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร บุตรเจ้าพระยานิกรบดินทร) กราบบังคมทูล
ถึงความชำรุดทรุดโทรมของวัดและขาดทุนทรัพย์ในการซ่อมแซม จึง
โปรดเกล้าฯ ให้กรมโยธาธิการจัดการซ่อมแซม
ยังมีเอกสารร่วมสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่กล่าวถึงวัดกัลยาณมิตรได้
อย่างน่าสนใจ คือ “นิราศยี่สาร” ผลงานร้อยกรองของนายกุหลาบ หรือ
ก.ศ.ร.กุหลาบ นักคิด นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญ
มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ – รัชกาลที่ ๖
“นิราศยี่สาร” ของนายกุหลาบเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๒ ขณะ
นั้นนายกุหลาบอายุ ๔๕ ปี เป็นการเดินทางโดยเรือจากกรุงเทพฯ ไป
ตำบลยี่สาร เพื่อนมัสการปูชนียสถานและพระพุทธรูปสำคัญ สำนวน
กลอนนิราศของนายกุหลาบอาจไม่ดีนักเมื่อเทียบงานกวีนิราศของ
ท่านอื่นๆ แต่เมื่อศึกษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีแล้วมีอยู่
เต็มเปี่ยม ดังที่พรรณนาไว้ในกลอนนิราศยี่สารตอนที่เรือล่องเข้าปาก
คลองบางกอกใหญ่ผ่านหน้าบ้านหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน
ซึ่งฝั่งตรงข้ามบ้านหมอบรัดเลย์ก็คือวัดกัลยาณมิตร ว่า

๐ แลเหนวัดกัลยาน่าบ้านหมอ โบถละออสูงเยี่ยมเทียมไสล
อิฐก่อพุทธรูปสะถูปไว้ ทั้งโตใหญ่เหลือแลชะแง้ดู
เกือบจะเท่าวัดเจ้าพระยานางเชิง สูงทะเกิงวัดไหนไม่มีสู้
ได้ทราบความตามเหตุสังเกตรู้ คือท่านผู้ที่บุรรณะเจ้าพระยา
นิกรบดินทรสะมุหะ ท่านสละทรัพย์สินสิ้นหนักหนา
สร้างอารามนามวัดกัลยา ถวายแก่ราชาพระทรงธรรม
ซึ่งบำรุงกรุงเทพในที่สาม ครองสยามนัคเรศเปนเขตรขันธ์
ประทานนามตามเหตุพิเลสครัน ชื่อวัดกัลยาณะมิตรประสิทธิ์พร ฯ/ะ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน
รูปหล่อทรงเครื่องจอมพลทหารมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระ
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานธรรมาสน์ สลักลวดลายปิดทอง
ประดับมุกและกระจก เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรม
ศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน
ทรงบรรจุพระอุณาโลมพระพุทธไตรรัตนนายก ซึ่งเป็นทองคำหนัก ๔๐
บาท แต่น่าเสียดายที่มีคนมาลักลอบขโมยไป
ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล
อดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ และพ.ศ.๒๕๑๙
ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎ
ราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ
พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรี
นารีรัตน์ พระธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ไปทรงปิดทององค์พระพุทธไตรรัตนนายก พระประธานประจำพระ
วิหารหลวง เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐
โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงยกช่อฟ้าพระวิหารหลวง เมื่อ
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒
วัดกัลยาณมิตรเป็นพระอารามหลวงขนาดใหญ่ มีผังวัดที่แบ่งเขต
พุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน มีถนนคั่นระหว่างพื้นที่ทั้งสองส่วน
เขตพุทธาวาสอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจ้าพระยา จากริมฝั่งแม่น้ำขึ้นมาผ่านศาลา
จัตุรมุข (ท่าฉนวน) มีทางเดินเข้าสู่ลานกว้าง มีศาลาเก๋งจีน ๒ หลัง สอง
ฝั่งทางเดินทั้งสองด้านของศาลาเก๋งจีน มีพระเจดีย์แบบพิเศษ ๒ องค์
คือ พระเจดีย์ทรงถะยอดปรางค์ และพระเจดีย์ทรงเครื่องหินอ่อน ทาง
ทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของตึกหินและศาลาการเปรียญ ผ่านศาลาเก๋งจีน
เข้าสู่ศาลาตรีมุข เข้ามาภายในกำแพงแก้วเขตพุทธาวาสที่มีพระอุโบสถ
พระวิหารหลวง พระวิหารน้อย และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น หอพระธรรม
มณเฑียรเถลิงพระเกียรติ หอระฆัง ส่วนเขตสังฆาวาสมีอาคารหมู่กุฏิ
คณะต่างๆ และอาคารเจ้าพระยานิกรบดินทร
โบราณสถานและถาวรวัตถุศิลปกรรมงานช่างต่างๆ ของวัด
กัลยาณมิตรที่กล่าวมาจะนำเสนอด้วยภาพ ส่วนหนึ่งเป็นภาพเก่าใน
อดีตที่ยังมิเคยเผยแพร่ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นภาพวัดกัลยาณมิตรในมุม
มองใหม่ผ่านงานช่างที่หลากหลายโดยการถ่ายภาพใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการ
บันทึกหลักฐานแนวคิดของงานช่างในอดีตที่สะท้อนถึงความไม่ธรรมดา
และล้ำสมัย และงานช่างที่ผ่านการดำเนินงานบูรณปฏิสังขรณ์ในปัจจุบัน
ที่ได้บูรณะซ่อมแซมเติมเต็มโดยที่คุมแบบอย่างให้ใกล้เคียงของเดิม
เท่าที่หลักฐานหลงเหลืออยู่ภายใต้การดูแลของท่านเจ้าคุณพระธรรม
เจดีย์ เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรรูปปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจาก
พระภิกษุสามเณรภายในวัด และได้รับความอุปถัมภ์เกื้อกูลจากญาติ
โยมประชาชนผู้มีศรัทธาตลอดมานับแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ
ปี พ.ศ.๒๕๔๕ จนถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณ http://watkanlayanamitra.blogspot.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .